วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อะไรคือ Bing อะไรคือ Jing กันแน่หว่า

อะไรคือ Bing อะไรคือ Jing กันแน่หว่า

ผู้เขียน: บุญชาย ทวีเติมสกุล
ลิขสิทธิ์บทความ: Copyright © 2009 Boonchai Thaveetermsakul



“เฮ้ย ไอ้แดน เอ็งได้ลองใช้ Jing เสิร์ช หาข้อมูลดูหรือยัง ? เผื่ออาจจะเจอ สิ่งที่เอ็งกำลังหาอยู่ก็ได้ ?”
“เปิ้ลว่า จะช่วยแดน โดยใช้ Bing จับภาพหน้าจอ และเมล์ไปให้ พี่ไพบูลย์ ดู ว่าสามารถหาข้อมูลตัวนี้มาได้หรือเปล่า? พี่ไพบูลย์แกประสบการณ์เยอะ แกดูทีเดียวก็รู้ จะได้ไม่ต้องไปเสิร์ชหาเอง เพราะถ้าคีย์เวิร์ดไม่ถูกก็อาจจะหาไม่เจออยู่ดี”

ผู้เขียนฟังจากบทสนทนาข้างต้นของบรรดาลูกน้องในออฟฟิศ แล้ว รู้สึกเหมือนๆ กับว่า พวกเขาและเธอพยายามจะใช้เทคโนโลยี่ใหม่ๆ บนโลกไซเบอร์อินเตอร์เน็ตอย่างรอบรู้และทันกระแส ดูแล้ว ช่างอินเทรนทั้งสามคน แต่ปรากฏว่า ถ้าไม่ผิดทั้งหมด ก็ได้แค่ถูกครึ่งเดียว ผู้เขียนรู้สึกว่า ลูกน้องที่ออฟฟิศของผู้เขียนจะยังสับสนในความแตกต่างระหว่าง Bing กับ Jing อยู่ เพราะว่า เดี๋ยวนี้ วิทยาการ เทคโนโลยี่ ไอที และอินเตอร์เน็ต เจริญก้าวหน้า เปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปเร็วและไวมาก มีผลิตภัณฑ์ โปรแกรม และ แอพพลิเคชั่น ต่างๆ ออกมา มากมายตลอดเวลา ถ้าไม่ติดตามสักระยะ ก็จะมีผลให้เป็นพวกเอ้าท์ (พวกล้าหลัง) ไป ยกตัวอย่าง เช่น เจ้า Bing และ เจ้า Jing ที่กล่าวมาข้างต้นนี้แหละ ความจริงแล้ว ทั้งสองเป็นแอพพลิเคชั่นใหม่ ที่เริ่มใช้กันบนอินเตอร์เน็ตมาได้ช่วงหนึ่งแล้ว ชื่อคล้ายๆ กัน แต่ทำงานกันคนละอย่าง ครับ

Bing คือ เสิร์ชเอ็นจิ้น ตัวใหม่ของ บริษัท Microsoft เปิดตัวในเดือน พฤษภาคม 2552 สร้างความฮือฮาให้กับวงการเป็นอย่างมาก ตามด้วยความสำเร็จในการควบรวม Yahoo! มาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท โดยทาง Microsoft ต้องการจะวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ทั้งสอง (Bing และ Yahoo! Search ) ให้แตกต่างกันในแง่ทางด้านยุทธศาสตร์การตลาด และหวังว่าการผนึกกำลังกันในครั้งนี้ จะสามารถช่วยให้ทาง Microsoft สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาจาก Google ได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในปัจจุบัน Google นั้นเป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดทางด้านเสิร์ชเอ็นจิ้น สูงสุดอยู่ ณ ขณะนี้ ถ้าเริ่มเบื่อ Google และ Yahoo! แล้ว ก็ลองไปทดลองใช้ เสิร์ชเอ็นจิ้น ตัวนี้ดูได้ที่ http://www.bing.com/

ในขณะที่ Jing คือ โปรแกรมแจกฟรี สำหรับ่ให้ใช้ในการจับภาพ (capture) วิดีโอภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมบันทึกเสียงพูดจากไมโครโฟน โดยสามารถบันทึกได้ความยาวไม่เกิน 5 นาที และเก็บไฟล์ในรูปแบบไฟล์วิดีโอนามสกุล swf หรือ ใช้ในการจับภาพนิ่งบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และบันทึกเป็นไฟล์รูปแบบนามสกุล png ซึ่งเป็นไฟล์ภาพที่มีการบีบอัดแบบคงคุณภาพ ผู้พัฒนาโปรแกรมนี้ คือ TechSmith ซึ่งมีผลงานก่อนหน้านี้ ได้แก่ โปรแกรมระดับคุณภาพ เช่น Camtasia Studio ใช้จับภาพ วิดีโอ และ Snagit ใช้จับภาพนิ่งบนคอมพิวเตอร์ อันเลื่องชื่อโดยทั้งสองโปรแกรมที่กล่าวมา มีลักษณะการทำงานคล้ายกับ Jing แต่มีคุณสมบัติที่เหนือกว่ามาก แต่โปรแกรม Jing เองก็มีข้อดีอันเป็นคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว คือ มีความคล่องตัวใช้งานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถอัฟโหลดวิดีโอขึ้นไปไว้ที่ เว็บ screencast.com หรือไว้ที่เว็บไซต์อื่นๆ ที่เรามีสิทธิ์อัฟโหลดขึ้นไปด้วยการ FTP เป็นต้น ถ้าอยากลองหามาใช้ดูบ้าง ก็ลองไปดาวน์โหลดมาทดลองใช้กันฟรีได้ที่ http://www.jingproject.com/


สรุปว่า ลูกน้องของผู้เขียนที่ออฟฟิศพยายามอวดภูมิความรู้ทางคอมพิวเตอร์ใส่กัน แต่พูดสลับกันครับ อิอิ



บทความนี้ เขียนโดย: บุญชาย ทวีเติมสกุล - © 2009 Boonchai Thaveertermsakul



เกี่ยวกับผู้เขียน:

บุญชาย ทวีเติมสกุล เป็น นักเขียนอิสระ มีผลงานการเขียนที่เป็น บทความวิชาการ และเรื่องทั่วไป ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ลงเผยแพร่บทความทางอินเตอร์เน็ด เว็บไซต์ และ บล็อกต่างๆ อาทิ i-Prosper , i-Technology News , OZ OmniscienceZ , Erudite Owl , Neo Liners International Blog , และ Multi Leaves เป็นต้น

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ประเทศไทยน่าจะมีวันแต่งกายชุดประจำชาติ

ประเทศไทยน่าจะมีวันแต่งกายชุดประจำชาติ :

ผู้เขียน: บุญชาย ทวีเติมสกุล
ลิขสิทธิ์บทความ: Copyright © 2009 Boonchai Thaveetermsakul



วันก่อนได้ดูข่าวต่างประเทศ ในช่วงฤดูร้อนที่ประเทศญี่ปุ่น เขามีวันแต่งกายชุดประจำชาติของเขา คนญี่ปุ่นทั้งชาย และ หญิง จะพร้อมใจกันใส่ชุดประจำชาติ ผู้หญิงญี่ปุ่นจะใส่ชุด ยูคาตะ แบบที่เป็นชุดดั้งเดิม และชุดแบบประยุกต์ร่วมสมัย ออกมาเดินไปมาตามท้องถนน และตามที่ต่าง ๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน ทักทายกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสแสดงให้เห็นถึงความภูมิใจในชุดประจำชาติของเขาอย่างมากอีกต่างหาก ดูไปแล้วช่างน่าอิจฉาว่า คนญี่ปุ่นนั้นเขาช่างมีความรักในชาติ รักในศิลปะประจำชาติของเขา ตลอดจนยังคงช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของเขาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องมาโดยตลอด

สำหรับท่านผู้อ่านที่สงสัยว่า ชุด ยูคาตะ (Yukata) แตกต่างจาก ชุด กิโมโน (Kimono) อย่างไรนั้น ผู้เขียนขอกล่าวโดยสรุปเป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อย ดังนี้ คือ ชุดยูคาตะ ส่วนใหญ่จะเป็นชุดที่ตัดเย็บมาจากผ้าฝ้าย และสามารถสวมใส่ได้ในฤดูร้อน มักใช้ในงานเทศกาล ส่วนชุด กิโมโน นั้น มักใช้เนื้อผ้าสวยงามอย่างดีนำมาตัดเย็บ โดยทำมาจากผ้าไหมราคาแพง มีหลายชั้น เวลาใส่ต้องมีความชำนาญ ใช้ใส่ใน งานพิธีการ ต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานปีใหม่ งานฉลองการบรรลุนิติภาวะ เป็นต้น ชุดกิโมโน มีราคาค่อนข้างสูง บางชุดราคาอาจสูงถึง ล้านเยนก็มี ผู้ใหญ่จึงนิยมมอบเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลาน เนื่องจากชุดกิโมโนประกอบด้วยผ้าหลายชั้น ต้องมีขั้นตอนวิธีการใส่ และการผูกโอบิที่ถูกต้อง จนถึงขั้นต้องมีโรงเรียนสำหรับสอนการสวมใส่กิโมโนและผูกโอบิให้กับคนรุ่นใหม่ กันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ ประเทศก็เช่นกัน ที่คนในชาติของเขา ยังนิยมแต่งกายชุดประจำชาติของเขาอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย กับชุดส่าหรี หรือ เกาหลี กับชุดฮันบก ฯลฯ ดุแล้วก็น่าชื่นชมในการรักษา และ ดำรงวัฒนธรรม และอนุรักษ์ประเพณีของชาติเขาไว้

สำหรับผู้อ่านหลายท่านอาจคิดว่า ชุดไทยใส่ยาก กลัวใส่ไม่เป็น กลัวใส่ไม่ถูก ใส่แล้วอึดอัด เนื้อผ้าไม่เหมาะสมกับการนำมาใส่กันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน น่าเขินอาย ฯลฯ แต่ผู้เขียน อยากฝากความคิดเห็น เป็นข้อคิดสักเล็กน้อยว่า อย่ากลัว หรือปริวิตกใดใดไปก่อนกาลเลย มันคงไม่ยากไปกว่าการใส่ชุดกิโมโนของญี่ปุ่นที่มีหลายชิ้น หลายชั้น สักเท่าใดหรอก หรือ ถ้ากลัวใส่ไม่ถูก ก็ลองไปถามผู้หลักผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายาย หรือ ผู้รู้ ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็คงจะเต็มใจที่จะบอกกล่าว แนะนำ และสอนเรา ด้วยความดีใจ และภูมิใจในตัวลูกหลาน

ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษา กระทรวงท่องเที่ยว ฯลฯ ก็ควรให้ความสนใจ ประชาสัมพันธ์ ให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนส่งเสริม ให้มีการแต่งชุดประจำชาติไทยในโอกาสต่างๆ และ ให้มีการเปิดเป็นโรงเรียนสอน หรือ เปิดเว็บไซต์ ทำบล็อก แนะนำ ขั้นตอนวิธีการแต่งกาย และการเลือกใส่ ชุดต่างๆให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสและเทศกาลต่างๆ

ส่วนเรื่องข้ออ้างที่กล่าวว่า เมืองไทยอากาศร้อน ใส่แล้วร้อน ใส่แล้วอึดอัด หรือ ใส่ชุดไทยที่มีลักษณะเป็นพิธีการไม่ไหว ผู้เขียนก็ขอแนะนำว่า ชุดไทยมีมากมาย หลากหลายสามารถเลือกหา ประเภท รูปแบบ และเนื้อผ้า ให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ ฤดูกาล และอากาศ ได้ หรือจะประยุกต์ให้ดูร่วมสมัยขึ้น เหมือนอย่างที่คนญี่ปุ่นเขามีการออกแบบชุดยูคาตะให้ดูทันสมัย ใส่ง่าย ถูกใจวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ (แต่ขอให้มีกรอบที่ชัดเจนในการประยุกต์ ไม่ใช่ล้ำยุค หลุดโลกแฟชั่นไปเลย ก็แล้วกัน) มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านพอทราบไหมครับว่า ชุดประจำชาติไทย หลัก ๆ ที่เป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิง มีกี่ชุด กี่แบบ อะไรบ้าง

ชุดประจำชาติ ไทย หลักๆ มี ด้วยกัน 8 แบบ ได้แก่ :



  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยเรือนต้น

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยจิตรลดา

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยอมรินทร์

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยบรมพิมาน

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยจักรี

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยจักรพรรดิ์

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยศิวาลัย

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยดุสิต

ชุดไทยต่างๆ เหล่านี้ มี รูปแบบ แตกต่างกันไป สามารถเลือกหา มาใช้ใส่แต่งกายให้เหมาะสมกับ กาละเทศะ และให้เหมาะกับเทศกาลงานต่างๆ ได้ ส่วนชุดไทยเหล่านี้มีลักษณะรูปแบบ รายละเอียดแตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนจะมาอธิบายขยายความในโอกาสต่อๆไปครับ

ส่วนประเด็นสุดท้ายในเรื่องของความเขินอายนั้น ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปลูกฝังจิตสำนึกด้านบวกที่ถูกต้องให้กับคนในชาติ เพราะว่า การสวมใส่ชุดแต่งกายประจำชาติควรเป็นเรื่องของความภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องของความน่าอับอายแต่อย่างไร

มาถึงตรงนี้แล้ว ผู้เขียนก็ขอวกกลับมาที่หัวข้อของบทความนี้ที่ได้เปิดประเด็นไว้ นั้นคือ ถึงเวลาแล้วที่ ประเทศไทยน่าจะมีวันแต่งกายชุดประจำชาติแล้วหรือยัง? หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะมี โครงการ หรือ แนวคิด ริเริ่มทำดู ให้ประเทศไทย มีวันแต่งกายชุดประจำชาติไทย สักหนึ่งวัน ไม่ทราบว่า จะมีความเป็นไปได้บ้างไหม? มีสิ่งใดบ้างที่จะเป็นอุปสรรค?
ผู้เขียนคิดว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ลองจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็น หรือจัดทำประชามติของคนไทยทั้งประเทศกันดูสักที ก็น่าจะดีเหมือนกัน? (หาเวลาทำเรื่องสร้างสรรค์กันบ้าง ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดูบ้าง เผื่อจะทำให้คนไทยมีความรักในชาติ และสร้างให้เกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติ ขึ้นมาบ้าง -- ประโยคในวงเล็บ เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)

เราจะดำรงความเป็นไทยไว้ได้อย่างไร ถ้าไร้รากเง้าที่หยั่งลึกของตัวเราเอง?


บทความนี้ เขียนโดย: บุญชาย ทวีเติมสกุล - © 2009 Boonchai Thaveertermsakul



เกี่ยวกับผู้เขียน:

บุญชาย ทวีเติมสกุล เป็น นักเขียนอิสระ มีผลงานการเขียนที่เป็น บทความวิชาการ และเรื่องทั่วไป ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ลงเผยแพร่บทความทางอินเตอร์เน็ด เว็บไซต์ และ บล็อกต่างๆ อาทิ i-Prosper , i-Technology News , OZ OmniscienceZ , Erudite Owl , Neo Liners International Blog , และ Multi Leaves เป็นต้น

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปฐมบท แห่ง "ใบไม้หลายกำ"

ปฐมบท แห่ง "ใบไม้หลายกำ"

ผู้เขียน: บุญชาย ทวีเติมสกุล
ลิขสิทธิ์บทความ: Copyright © 2009 Boonchai Thaveetermsakul



มาคุยกันก่อน.....

ใบไม้หลายกำ (Bai Maai Laai Gum -- Multi Leaves) ? ชื่อนี้มาได้อย่างไร ?
ก่อนอื่นขอกล่าวคำทักทาย และ สวัสดี เพื่อนๆ นักท่องเว็บ เพื่อนนักอ่าน เหล่าบล็อกเกอร์ ทั้งหลาย ทั้งที่ตั้งใจแวะมาดู ผ่านมาดู หรือโผล่เข้ามาดูโดยบังเอิญ จากลิ้งค์ต่างๆ ส่งมา หรือ จากท่านอาจารย์กู้ (ก็ท่านอาจารย์ กูเกอร์ เซิร์ท -- Google Search นั้นแหละ) ส่งมา หรือมาจาก บรรดา เซิร์ท เอนจิ้น ต่างๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เอ่ยถึง ณ ที่นี้

สำหรับที่มาที่ไปของบล็อกนี้ ความตั้งใจแรกเริ่มเดิมทีของผู้เขียนนั้น อยากมีพื้นที่ว่างสักที่ไว้เก็บไดอารี่ชีวิต ไว้เก็บความรู้ ความทรงจำต่างๆ ของตัวเราที่เก็บเล็กผสมน้อยมา เป็นเสมือนการย่อยข้อมูล ตกผลึกความคิด บันทึกช่วยจำ ความทรงจำดีๆ ในชีวิต ประสบการณ์ชีวิต และอื่นๆ อีกมากมายในชีวิต ฯลฯ และเป็นพื้นที่สำหรับแสดงความคิดเห็นส่วนตัว อย่างอิสระ (หมายเหตุ -- แต่สุดท้ายเพื่อน ๆ นักท่องเว็บแห่งดินแดนไซเบอร์ ทั้งหลาย มากมายหลายๆ คน ก็นำเนื้อหา หรือข้อมูลบางอย่างที่อยู่บนบล็อกแห่งนี้ นำไปอ้างอิงเชิงวิชาการ ส่วนเด็กๆ นักเรียนทั้งหลายก็นำไปทำการบ้านส่งคุณครู (เช่น ลูกๆ ของข้าพเจ้า เป็นต้น) นิสิตนักศึกษา ก็นำไปทำรายงานส่งอาจารย์ และอ้างอิงแหล่งข้อมูลว่ามาจากบล็อกนี้ เพราะฉะนั้น ผู้เขียนจึงต้องหมั่นเข้ามาปรับปรุงอัพเดต ข้อมูล บทความเก่าๆ บางเรื่อง contents และ articles ต่างๆ โดยได้ทำการแก้ไขเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ให้ถูกต้องให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนตรงไหนเป็นการสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัว เป็นบทวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ของตัวผู้เขียนเอง ผู้เขียนจะพยายามใส่หมายเหตุ และ/หรือ ใส่วงเล็บเอาไว้ให้ก็แล้วกัน โดยจะพยายามทำให้เท่าที่จะทำได้น๊ะครับ เพราะฉะนั้น กรุณาใช้วิจารณญาณส่วนตัวประกอบการตัดสินใจด้วย ครับ ) ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ทำตัวเป็นชาวบล็อกเกอร์อีกคน และได้ทำการสร้างและจัดทำบล็อกนี้ขึ้นมา

แล้วมันเกี่ยวข้องยังไงกับ "ใบไม้หลายกำ" ?
มาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านทุกท่านก็ยังคงมีปัญหาค้างคาใจอยู่ ถึงที่มาของชื่อ บล็อกแห่งนี้ ซึ่งผู้เขียนกำลังจะเฉลยให้ทราบ ณ ที่นี้ครับ

อันที่จริงแล้ว "ใบไม้กำมือเดียว" เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนา กล่าวคือ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ กับพระภิกษุทั้งหลายกำลังเดินกันอยู่ในป่า พระพุทธองค์ได้ทรงกอบใบไม้ที่มีมากมายเกลื่อนกลาดอยู่ขึ้นมากำมือหนึ่งและทรงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือนี้มากหรือน้อยเมื่อเทียบกับใบไม้หมดทั้งป่า ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า ใบไม้ทั้งป่ามีอยู่มากกว่ากันมากจนมิอาจนำมาเปรียบเทียบได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมาก เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องที่จำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอน และนำมาปฏิบัติ อันได้แก่ "เรื่องการดับทุกข์" นั้น เท่ากับใบไม้กำมือเดียว สรุปความ คือ พระพุทธองค์ทรงค้นพบสัจธรรม ว่า อันองค์ความรู้ ความจริง ต่างๆ นานา ในสากล จักรวาลนั้น มีมากมายเหลือคณานับดุจใบไม้ในป่าใหญ่ (แบ่งเป็นศาสตร์ความรู้เฉพาะในเรื่องต่างๆ ก็คงได้อีกหลายเรื่อง หลายหมวด คงเป็น "ใบไม้ได้อีกหลายกำมือ" -- ผู้เขียนเปรียบเอง) แต่องค์ความรู้อื่นๆ อีกมากมายเหล่านั้น พระพุทธองค์มิได้ให้ความสนใจ หรือให้ความสำคัญที่จะนำมาสอน แต่ได้เลือกมาเพียงใบไม้เพียงกำมือเดียว มาสอนเนื่องจากใบไม้กำมือเดียวนี้ คือ "ทางแห่งความหลุดพ้น" ส่วนอื่น ๆ นั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อความหลุดพ้นจึงมิได้นำมาสอน ...ดั่งคำกลอนของท่านพุทธทาสที่ว่า :


กลอน "ใบไม้กำมือเดียว"


สัพพัญญูรู้ทั่วไป เปรียบใบไม้หมดทั้งป่า
แต่เลือกคัดเอามา สอนชี้นำกำมือเดียว ฯ

โดย.. ท่านพุทธทาสภิกขุ


แต่ตัวผู้เขียนนั้น ยังคงมิได้หลุดพ้น ยังคงวนเวียนอยู่ในสงสารวัฏ ก็ยังคงเสียดาย บรรดาองค์ความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เรื่อง ปกิณกะ ตลอดจนเรื่องต่างๆ ในชีวิต ฯลฯ จึงขอเก็บตก กอบใบไม้รวบมันมารวมเป็นกองเข้าด้วยกันเป็นหมวดหมู่ เป็นใบไม้อีกสักหลายๆ กำ ไว้ศึกษา ตามประสาของคนใฝ่รู้ แม้ว่าเรื่องเหล่านี้อาจมิใช่แก่นสาระสำคัญ แห่งการนำไปสู่การดับทุกข์ ดังธรรมอันประเสริฐแห่ง พระสมณะโคดม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ตาม ดังนั้นผู้เขียนจึงเกิดปิ๋งไอเดีย และจึงเกิดเป็นที่มาของ ชื่อ "ใบไม้หลายกำ (Bai Maai Laai Gum -- Multi Leaves -- http://www.multileaves.blogspot.com)" ของบล็อกแห่งนี้ ที่ท่านผู้อ่านทุกท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้ เอวังด้วยประการฉะนี้แล

บทความนี้ เขียนโดย: บุญชาย ทวีเติมสกุล - © 2009 Boonchai Thaveertermsakul



เกี่ยวกับผู้เขียน:

บุญชาย ทวีเติมสกุล เป็น นักเขียนอิสระ มีผลงานการเขียนที่เป็น บทความวิชาการ และเรื่องทั่วไป ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ลงเผยแพร่บทความทางอินเตอร์เน็ด เว็บไซต์ และ บล็อกต่างๆ อาทิ i-Prosper , i-Technology News , OZ OmniscienceZ , Erudite Owl , Neo Liners International Blog , และ Multi Leaves เป็นต้น