วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ประเทศไทยน่าจะมีวันแต่งกายชุดประจำชาติ

ประเทศไทยน่าจะมีวันแต่งกายชุดประจำชาติ :

ผู้เขียน: บุญชาย ทวีเติมสกุล
ลิขสิทธิ์บทความ: Copyright © 2009 Boonchai Thaveetermsakul



วันก่อนได้ดูข่าวต่างประเทศ ในช่วงฤดูร้อนที่ประเทศญี่ปุ่น เขามีวันแต่งกายชุดประจำชาติของเขา คนญี่ปุ่นทั้งชาย และ หญิง จะพร้อมใจกันใส่ชุดประจำชาติ ผู้หญิงญี่ปุ่นจะใส่ชุด ยูคาตะ แบบที่เป็นชุดดั้งเดิม และชุดแบบประยุกต์ร่วมสมัย ออกมาเดินไปมาตามท้องถนน และตามที่ต่าง ๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน ทักทายกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสแสดงให้เห็นถึงความภูมิใจในชุดประจำชาติของเขาอย่างมากอีกต่างหาก ดูไปแล้วช่างน่าอิจฉาว่า คนญี่ปุ่นนั้นเขาช่างมีความรักในชาติ รักในศิลปะประจำชาติของเขา ตลอดจนยังคงช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของเขาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องมาโดยตลอด

สำหรับท่านผู้อ่านที่สงสัยว่า ชุด ยูคาตะ (Yukata) แตกต่างจาก ชุด กิโมโน (Kimono) อย่างไรนั้น ผู้เขียนขอกล่าวโดยสรุปเป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อย ดังนี้ คือ ชุดยูคาตะ ส่วนใหญ่จะเป็นชุดที่ตัดเย็บมาจากผ้าฝ้าย และสามารถสวมใส่ได้ในฤดูร้อน มักใช้ในงานเทศกาล ส่วนชุด กิโมโน นั้น มักใช้เนื้อผ้าสวยงามอย่างดีนำมาตัดเย็บ โดยทำมาจากผ้าไหมราคาแพง มีหลายชั้น เวลาใส่ต้องมีความชำนาญ ใช้ใส่ใน งานพิธีการ ต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานปีใหม่ งานฉลองการบรรลุนิติภาวะ เป็นต้น ชุดกิโมโน มีราคาค่อนข้างสูง บางชุดราคาอาจสูงถึง ล้านเยนก็มี ผู้ใหญ่จึงนิยมมอบเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลาน เนื่องจากชุดกิโมโนประกอบด้วยผ้าหลายชั้น ต้องมีขั้นตอนวิธีการใส่ และการผูกโอบิที่ถูกต้อง จนถึงขั้นต้องมีโรงเรียนสำหรับสอนการสวมใส่กิโมโนและผูกโอบิให้กับคนรุ่นใหม่ กันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ ประเทศก็เช่นกัน ที่คนในชาติของเขา ยังนิยมแต่งกายชุดประจำชาติของเขาอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย กับชุดส่าหรี หรือ เกาหลี กับชุดฮันบก ฯลฯ ดุแล้วก็น่าชื่นชมในการรักษา และ ดำรงวัฒนธรรม และอนุรักษ์ประเพณีของชาติเขาไว้

สำหรับผู้อ่านหลายท่านอาจคิดว่า ชุดไทยใส่ยาก กลัวใส่ไม่เป็น กลัวใส่ไม่ถูก ใส่แล้วอึดอัด เนื้อผ้าไม่เหมาะสมกับการนำมาใส่กันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน น่าเขินอาย ฯลฯ แต่ผู้เขียน อยากฝากความคิดเห็น เป็นข้อคิดสักเล็กน้อยว่า อย่ากลัว หรือปริวิตกใดใดไปก่อนกาลเลย มันคงไม่ยากไปกว่าการใส่ชุดกิโมโนของญี่ปุ่นที่มีหลายชิ้น หลายชั้น สักเท่าใดหรอก หรือ ถ้ากลัวใส่ไม่ถูก ก็ลองไปถามผู้หลักผู้ใหญ่ ปู่ย่าตายาย หรือ ผู้รู้ ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็คงจะเต็มใจที่จะบอกกล่าว แนะนำ และสอนเรา ด้วยความดีใจ และภูมิใจในตัวลูกหลาน

ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษา กระทรวงท่องเที่ยว ฯลฯ ก็ควรให้ความสนใจ ประชาสัมพันธ์ ให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนส่งเสริม ให้มีการแต่งชุดประจำชาติไทยในโอกาสต่างๆ และ ให้มีการเปิดเป็นโรงเรียนสอน หรือ เปิดเว็บไซต์ ทำบล็อก แนะนำ ขั้นตอนวิธีการแต่งกาย และการเลือกใส่ ชุดต่างๆให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสและเทศกาลต่างๆ

ส่วนเรื่องข้ออ้างที่กล่าวว่า เมืองไทยอากาศร้อน ใส่แล้วร้อน ใส่แล้วอึดอัด หรือ ใส่ชุดไทยที่มีลักษณะเป็นพิธีการไม่ไหว ผู้เขียนก็ขอแนะนำว่า ชุดไทยมีมากมาย หลากหลายสามารถเลือกหา ประเภท รูปแบบ และเนื้อผ้า ให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ ฤดูกาล และอากาศ ได้ หรือจะประยุกต์ให้ดูร่วมสมัยขึ้น เหมือนอย่างที่คนญี่ปุ่นเขามีการออกแบบชุดยูคาตะให้ดูทันสมัย ใส่ง่าย ถูกใจวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ (แต่ขอให้มีกรอบที่ชัดเจนในการประยุกต์ ไม่ใช่ล้ำยุค หลุดโลกแฟชั่นไปเลย ก็แล้วกัน) มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านหลายท่านพอทราบไหมครับว่า ชุดประจำชาติไทย หลัก ๆ ที่เป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิง มีกี่ชุด กี่แบบ อะไรบ้าง

ชุดประจำชาติ ไทย หลักๆ มี ด้วยกัน 8 แบบ ได้แก่ :



  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยเรือนต้น

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยจิตรลดา

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยอมรินทร์

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยบรมพิมาน

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยจักรี

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยจักรพรรดิ์

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยศิวาลัย

  • ชุดประจำชาติ :: ชุดไทยดุสิต

ชุดไทยต่างๆ เหล่านี้ มี รูปแบบ แตกต่างกันไป สามารถเลือกหา มาใช้ใส่แต่งกายให้เหมาะสมกับ กาละเทศะ และให้เหมาะกับเทศกาลงานต่างๆ ได้ ส่วนชุดไทยเหล่านี้มีลักษณะรูปแบบ รายละเอียดแตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนจะมาอธิบายขยายความในโอกาสต่อๆไปครับ

ส่วนประเด็นสุดท้ายในเรื่องของความเขินอายนั้น ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปลูกฝังจิตสำนึกด้านบวกที่ถูกต้องให้กับคนในชาติ เพราะว่า การสวมใส่ชุดแต่งกายประจำชาติควรเป็นเรื่องของความภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องของความน่าอับอายแต่อย่างไร

มาถึงตรงนี้แล้ว ผู้เขียนก็ขอวกกลับมาที่หัวข้อของบทความนี้ที่ได้เปิดประเด็นไว้ นั้นคือ ถึงเวลาแล้วที่ ประเทศไทยน่าจะมีวันแต่งกายชุดประจำชาติแล้วหรือยัง? หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรมน่าจะมี โครงการ หรือ แนวคิด ริเริ่มทำดู ให้ประเทศไทย มีวันแต่งกายชุดประจำชาติไทย สักหนึ่งวัน ไม่ทราบว่า จะมีความเป็นไปได้บ้างไหม? มีสิ่งใดบ้างที่จะเป็นอุปสรรค?
ผู้เขียนคิดว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ลองจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็น หรือจัดทำประชามติของคนไทยทั้งประเทศกันดูสักที ก็น่าจะดีเหมือนกัน? (หาเวลาทำเรื่องสร้างสรรค์กันบ้าง ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันดูบ้าง เผื่อจะทำให้คนไทยมีความรักในชาติ และสร้างให้เกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติ ขึ้นมาบ้าง -- ประโยคในวงเล็บ เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)

เราจะดำรงความเป็นไทยไว้ได้อย่างไร ถ้าไร้รากเง้าที่หยั่งลึกของตัวเราเอง?


บทความนี้ เขียนโดย: บุญชาย ทวีเติมสกุล - © 2009 Boonchai Thaveertermsakul



เกี่ยวกับผู้เขียน:

บุญชาย ทวีเติมสกุล เป็น นักเขียนอิสระ มีผลงานการเขียนที่เป็น บทความวิชาการ และเรื่องทั่วไป ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ลงเผยแพร่บทความทางอินเตอร์เน็ด เว็บไซต์ และ บล็อกต่างๆ อาทิ i-Prosper , i-Technology News , OZ OmniscienceZ , Erudite Owl , Neo Liners International Blog , และ Multi Leaves เป็นต้น